ในเมื่อเราถูกแต่งตั้งโดยใครก็ไม่รู้ ให้เป็นหมอสนามกอล์ฟ หน้าที่ส่วนใหญ่ของเรา คือให้คำปรึกษาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ แก่พักพวกที่ต้องการ
แม้ว่า ปัญหานั้น ๆ จะอยู่นอกสาขาที่เราร่ำเรียนมา เ
ราต้องเสาะหาคำตอบให้แก่พักพวกเพื่อนฝูงที่อุตสาห์ถามเราให้ได้
โชคดีที่ยุคนี้ เป็นยุคที่เราสามารถค้นคว้าหาความรู้จากเนต ผมเรียกว่า “ห้องสมุดสาธารณะก็คงไม่ผิด
วันนี้ เจอคำถามจากเพื่อนผู้สูงวัย ขณะออกรอบเล่นกอล์ฟ เพื่อนของเรา เริ่มด้วยประโยคที่ยาวพอสมควรว่า:
“ญาติของผมได้ทำการผ่าตัดต่อมลูกหมากไปเรียบร้อยแล้ว ผลของการผ่าตัดเป็นที่พอใจของคนป่วย แต่มาตอนหลังนี้ เขามีปัญหาเรื่อง ปัสสาวะรดที่นอนโดยไม่รู้ตัวเลย ซึ่งมันต่างจากตอนเป็นลูกหมากก่อนผ่าตัด ซึ่งตอนนั้นเป็นปัญหาเรื่องปัสสาวะ “เล็ด” “กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยจะอยู่...”
ตอนนี้ มันไม่ใช่อย่างนั้นเสียแล้ว
ที่นอนเปียกทุกวัน (คืน) ต้องแยกตัวออกไปนอนคนเดียว....คุณหมอพอที่จะแนะนำให้ผมได้ไหม?”
นั่นคือประเด็นที่ผู้เขียนจะต้องให้คำตอบแก่เพื่อน:
คนไข้รายนี้เป็นชายวัย 70 ได้รับการผ่าตัดผ่านกล้อง ภายในท่อปัสสาวะ ซึ่งได้กระทำมาประมาณ 2 ปีเห็นจะได้ มาไม่กี่เดือนนี้ เกิดมีอาการปัสสาวะลดที่นอน จนต้องแยกจากภรรยา (แยกเตียง แยกห้องนอน เพราะภรรยาทนกลิ่นปัสสาวะไม่ไหว)
เพื่อเป็นการสนองตอบเพื่อนที่ถาม...ผมก็จำเป็นต้องร่ายยาวเรื่องปัสสาวะลดที่นอน (Bedwetting) ให้เพื่อน และบันทึกไว้เป็นหลักฐานเพื่อกันลืม
Definition:
ปัสสาวะลดที่นอนโดยไม่รู้ตัว และเกิดตอนกลางคืนขณะนอนหลับ ฝรั่งเรียก Nocturnal enuresis
ภาวะเช่นนี้ มีสาเหตุมากมาย ที่เราควรรู้เอาไว้ ซึ่งได้แก่: โรคเบาหวาน ทางเดินปัสสาวะอักเสบ เป็นนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบประสาทผิดปกติ มะเร็งของต่อมลูกหมาก รวมทั้งต่อมลูกหมากโต เป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และทางเดินระบบหายใจอุดกลั้นขณะนอนหลับ (Obstructive sleep apnea)
นอกจากนั้น ยังมีสาเหตุอีกประการหนึ่ง แต่พบได้น้อยมาก เช่น ภาวะที่ผิดปกติทางจิต หรือเกิดความเครียดอย่างแรง ก็อาจทำให้ฉี่ลดที่นอนโดยไม่รู้ตัวได้
จากหลักฐานที่กล่าวมาเสียยาวยืดอย่างนี้ ผมว่า คุณ ควรให้ญาติของคุณมาทำการตรวจร่างกายเสีย จะได้รู้เสียที ว่า สาเหตุของโรคนั้นเป็นอะไรกันแน่ ที่สำคัญ เมื่อรักษาหาย ญาติของคุณจะได้กลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติ ร่วมหลับนอนกับภรรยาได้ตามเดิมซะที
ก่อนไปพบแพทย์ มีคำแนะนำให้บันทึกข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับอาการของคนไข้ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการนำไปวิเคราะห์ หาสาเหตุของโรคได้ ดังนี้
ให้ลูกของคนป่วยบันทึกจำนวนครั้งของการปัสสาวะ กลางวัน กี่ครั้ง กลางคืนกี่ครั้ง
ให้บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดปัสสาวะโดยไม่รู้ตัว ทั้งกลางวัน หรือกลางคืน
ให้วัดปริมาณปัสสาวะที่ออกมาในแต่ละครั้ง
บันทึกข้อมูลพฤติกรรมการดื่มน้ำ ว่าตอนบ่ายดื่มมากน้อยแค่ไหน
ดื่มอะไร (น้ำหวาน กาแฟ น้ำตาลเทียม พวก carbonate แอลกอฮอล์ หรือ...)
บันทึกลักษณะของลำปัสสาวะ (เป็นลำ สม่ำเสมอตลอดสาย ตอนเริ่มต้นปัสสาวะเป็นอย่างไร...กว่าจะปัสสาวะออกต้องรอนาน หรือเวลาปัสสาวะ...มันหยด)
มีการอักเสบของระบบขับถ่ายปัสสาวะบ่อยแค่ไหน
ในเดือนหนึ่งปัสสาวะลดที่นอนกี่ครั้งในหนึ่งเดือน (ให้เปรียบเทียบระหว่างที่นอนแห้ง กับจำนวนครั้งที่นอนเปียก)
นอกจากนั้นให้บันทึกด้วยว่า ในขณะที่เกิดปัสสาวะโดยไม่รู้ตัวนั้น มีเหงื่อออกด้วยหรือไม้
เมื่อคุณพาญาติที่มีปัญหาเรื่องปัสสาวะลดที่นอนไปพบแพทย์ สิ่งที่คุณจะได้พบมีด้งนี้:
• ได้รับการตรวจร่างกายทั่ว ๆ ไป (Physical examination)
• ได้รับการตรวจทางระบบประสาท (Neurological examination)
• การตรวจปัสสาวะ (Urinalysis) และมีการตรวจเพาะเชื้อ (culture) จากปัสสาวะ
• การตรวจ Uroflowmetry เป็นการตรวจ โดยให้คนไข้ปัสสาวะลงไปในกรวยพิเศษ เพื่อตรวจการไหลของปัสสาวะ (flow rate) วัดปริมาณ และเวลาที่คนไข้ต้องการปัสสาวะ
• ตรวจวัดปริมาณปัสสาวะที่เหลือค้างในกระเพาะปัสสาวะหลังจากที่ปัสสาวะแล้ว เป็นกาตรวจโดยใช้ ultrasound
นอกจากที่กล่าวมา หากมีความสงสัยว่า มีปัญหาอย่างอื่น คนไข้ก็จะได้รับการตรวจเพิ่มเติม เพื่อให้รู้ว่าไม่มีปัญหาอื่น ๆ
คุณควรพาญาติของคุณไปพบแพทย์ประเภทไหน?
แน่นอน แพทย์คนแรกที่ควรพบ คือแพทย์ประจำของคนไข้ ต่อจากนั้น เขาจะเป็นคนแนะนำเองแหละว่า ควรไปพบใคร ซึ่ง แพทย์ที่ควรควรได้พบ คือ ผู้ชำนาญการทางด้านระบบขับปัสสาวะนั้นเอง
ในขณะที่คุณ หรือญาติของคุณมีความละอายที่จะคุยปัญหาปัสสาวะลดที่นอน การปรึกษาแพทย์นั่นเป็นหนทางที่ดี ซึ่งเขาสามารถให้คำแนะนำที่ดีแก่คน หรือญาติของคุณได้
อย่าลืมว่า คนไข้ที่เป็นพวกฉี่ลดที่นอนตอนกลางคืนนั้น ส่วนใหญ่รักษาให้หายขาดได้
Treatment
แนวทางการรักษามีดังนี้:
• Monitoring fluid intake ให้คุณจำกัดปริมาณน้ำดื่มในตอนบ่าย หรือก่อนนอน เพราะการทำเช่นนั้นจะลดการสร้างน้ำปัสสาวะลง และทำให้การปัสสาวะลดลง เป็นวิธีการขั้นแรกในการรักษาพวกฉี่ลดที่นอนตอนกลางคืนได้ดี
ลดการดื่มพวกกาแฟ และลดการดื่มพวกแอลกอฮอล์ ลง จะช่วยลดการถ่ายปัสสาวะลงได้อย่างมาก
ที่พูดมาทั้งหมด ไม่หมายความว่า ท่านดื่มน้ำให้น้อยลงนะ ท่านต้องดื่มน้ำให้มาก เพื่อสุขภาพของท่านเอง แต่ให้เปลี่ยนเวลาการดื่มน้ำเท่านั้น ให้ดื่มน้ำในตอนเช้า และกลางวัน และตอนเย็นแทน และดื่มให้เยอะ ๆ ด้วย หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำก่อนนอน
• Bladder Volume Control เป็นวิธีการเพิ่มความสามารถของกระเพาะปัสสาวะให้ดีขึ้น ด้วยวิธีการให้ดื่มน้ำให้มาก ๆ ไว้ เสร็จแล้วเมื่อมีความต้องการจอยากฉี่ ให้อดกลั้นเอาไว้อย่าพึ่งไปฉี่ ให้รอประมาณ 2 – 3 ชั่วโมงก่อน เพื่อเป็นการฝึกให้กล้ามเนื้อของกระเพาะแข็งแรงขึ้น การฝึกด้วยวิธีการนี้ สามารถทำให้การทำงานของกระเพาะปัสสาวะดีขึ้น (Functional bladder capacity)
ทำให้ปัสสาวะน้อยลงได้
วิธีการนี้ใช้ได้ผลดีในรายที่กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะทำงานมากไป (Detrusor over-activithy) พวกนี้ จะพบว่ากระเพาะปัสสาวะจะหดเล็ก จากการที่มันเกร็งบ่อย
นอกจากนี้ ยังใช้ได้ผลกับคนไข้ที่เป็นต่อมาลูกหมากโตอีกด้วย
• Bedwetting alarm system เป็นเครื่องมือเตือนคนไข้ให้รู้สึกตัวเมื่อเกิดเหตุการณ์ปัสสาวะไม่รู้ตัวขึ้น เครื่องมือชนิดนี้ติดไว้ใต้กางเกงนอน หรือใต้ที่นอน เป็นเครื่องเช็คตอนมีปัสสาวะไหลออก มันจะปลุกให้ท่านตื่นขึ้น เมื่อท่านตื่น การปัสสาวะโดยไม่รู้ตัวจะหยุดลงทันที แล้วท่านไปปลดทุกข์ให้เรียบร้อย แล้วกลับมานอน
การปลุกด้วยวิธีนี้ จะทำให้ร่างกายของท่านเกิดการปรับตัว ทำให้ตื่นขึ้นเมื่อเกิดมีความรู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะขึ้น
มีคนไข้หลายรายที่สามารถแก้ไข้ด้วยวิธีการนี้
• Waking ให้ตั้งนาฬิกาปลุกในตอนกลางคืน เพื่อปลุกให้ท่านตื่นขึ้นมาปัสสาวะ ไม่รอให้เกิดการปัสสาวะลดที่นอนให้เปียก ให้กะเอาว่า ควรจะทำการปลุกตอนไหนดี การทำเช่นนี้ เป็นการป้องกันไม่ให้มันเกิดการปัสสาวะโดยที่คุณไม่รู้นั้นเอง
พูดมาถึงตอนนี้ ก็มีปัญหาจากเพื่อนเพิ่มขึ้นมาอีกว่า
“นอกจากวิธี ที่เสนอมา มีวิธีการอื่น อีกไหม?”
ผู้เขียนตั้งใจจะยุติการพูดคุยเรื่องนี้ แต่เมื่อมีการถามมา ก็ขอต่อให้จบความ
การรักษาพวกฉี่ลดที่นอนโดยไม่รู้ตัว ยังมีการรักษาด้วยวิธีการอย่างอื่นอีก คือ รักษาด้วยยา ซึ่งมีรายงานว่า มีการใช้ยารักษาได้ผลเช่นกัน แต่ต้องกินยาไปตลอด หยุดเมื่อไหร่เกิดอาการทันที ไม่ใช้วิธีรักษาต้นเหตุ หากท่านต้องการวิธีนี้ ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางนี้ดีกว่า
อีกวิธีหนึ่ง คือรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ซึ่งกระทำในรายที่มีต้นเหตุของโรคฉี่ลดที่นอน ซึ่งมีสาเหตุ จากกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะทำงานมากเกินไป (Over-activity)
วิธีการทางผ่าตัดนี้ จะกระทำเมื่อวิธีการอื่น ๆ ใช้ไม่ได้ผล ซึ่งมีหลายวิธี แต่ละวิธีมีอันตรายทั้งนั้น ก่อนตัดสินใจต้องพิจารณาให้ดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น