วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

: ภาวะอ่อนหล้า และปวดกล้ามเนื้อหลังการรับประทานอาหาร

ท่านเคยรู้ หรือเคยรับฟังปัญหาเช่นนี้มาบ้างไหม ?

“คุณหมอครับ ช่วยอธิบายเรื่องต่อไปนี้ให้ผมฟังหน่อยซิ”
กระทาชายนายหนึ่ง ซึ่งเป็นเพื่อนของผู้เขียนเอง ตั้งประเด็นการพูดคุยในขณะออกรอบเล่นกอล์ฟในวันหยุดสุดสัปดาห์
เนื่องจากวันนั้น เป็นวันที่ดีที่สุดของผู้เขียน ทำอะไรก็ดีไปหมด เล่นกอล์ฟได้ดีเป็นพิเศษ จึงตอบรับเพื่อนด้วยความยินดี ส่วนเพื่อนของเราแสดง สีหน้าไม่ค่อยจะปกตินัก ได้ขยายความต่อว่า
“ผมมีความทุกข์ใจมาก ไม่รู้จะช่วยเหลือภรรยาของผมได้อย่างไร
หลังจากที่เธอรับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อย เธอจะบ่นว่า ปวดกล้ามเนื้อทั่วไป และรู้สึกเหนื่อยหล้าเหลือเกิน ไม่อยากจะทำอะไรทั้งสิ้น
ตอนแรก ๆ ผมก็ไม่ได้คิดอะไรมาก... แต่ที่ไหนได้ เธอบ่นทุกวัน”
เพื่อนเราพูดไป ถอนหายใจไป หยุดได้พักหนึ่ง จึงกล่าวต่อ ทำให้เพื่อนๆ หยุดฟังชั่วขณะ
จากนั้นเพื่อนของเราก็พูดต่อ
“ ผมมีความรู้สึก เหนื่อยเพลีย กับปัญหาที่เกิดขึ้นกับของภรรยาจนไม่รู้จะทำอย่างไร
บางครั้ง เพื่อหลีกหนีปัญหา ผมไม่อยากนั่งกินข้าวร่วมกับเธอแล้ว...
คุณหมอ พอที่จะแนะนำ...ให้ผมได้ไหม?”
เพื่อนของเราเอ่ยขึ้น โดยไม่สนใจต่อผลของการเล่นกอล์ฟในวันนั้นเลย
“มิน่าละ หมู่นี้เล่นกอล์ฟแพ้คุณหมอแทบทุกหลุม ”
เพื่อน ๆ ที่เล่นกอล์ฟด้วยกัน สอดขึ้นด้วยความคะนองปาก อยากมีส่วนร่วมในการสนทนาด้วย
นั่นคือส่วนหนึ่งของการพูดคุยในขณะเล่นกอล์ฟ

อาการเหนื่อยเพลีย หลังการทำงานอย่างหนัก หรือการออกกำลังกาย เป็นเรื่องปรกติ ที่เกิดขึ้นกับ
ทุกคนอยู่แล้ว แต่เมื่อได้รับการพักผ่อน อาการเหนื่อยเพลียก็จะหายไป
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า มีบางคน มีภาวะเหนื่อยเพลีย หลังการรับประทานอาหาร
ขณะเดียวกันก็มีอาการปวดกล้ามเนื้อด้วย หลังการพักผ่อน อาการน่าจะหายไป ที่ไหนได้ อาการยังคงอยู่เหมือนเดิม ไม่หาย...
“อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการขึ้นเช่นนั้น
ภรรยาของผมได้รับการตรวจจากแพทย์หลายคน...แพทย์ได้ทำการตรวจอย่างละเอียดบอกว่า ผลการตรวจทุกชนิดปรกติทุกประการ”
เพื่อนเจ้าของปัญหาให้ข้อมูลเพิ่มเติม

ผมเชื่อตามที่เพื่อนบอก กรณี ภรรยา ของเขาเพื่อน น่าจะจัดอยู่ในกลุ่ม “ภาวะเพลียเรื้อรัง”
เมื่อทำการตรวจสอบทางเว็บฯ ศึกษาบทความต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ทางอินเตอรเน็ทดู ก็จะพบว่า อาการเหนื่อยเพลีย ร่วมกับการปวดกล้ามเนื้อ หลังการกินข้าว ดูเหมือนว่าเป็นความผิดปรกติของร่างกายอย่างหนึ่ง ซึ่งมีเกิดอาการเพลีย...ขึ้นมา แล้วแพทย์เราไม่สามารถตรวจพบได้ว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเช่นนั้นขึ้น
“เป็นโรคประสาท หรือเปล่าหมอ ?” เพื่อนอีกคนกระซิบถามเบา ๆ กลัวเพื่อนเจ้าของปัญหาจะโกรธเอา
สำหรับกรณีที่เรานำเสนอมา ภาวะเหนื่อยเพลียของเธอ ไม่เพียงแต่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน และการดำเนินชีวิตประจำวันของเธอเท่านั้น...
ฟังจากน้ำเสียงของเพื่อนเรา ดูเหมือนว่า ชีวิตสมรสของเธอก็ไม่ค่อยจะราบรื่นนัก สังเกตุการเล่นกอล์ฟของเพื่อนเราก็รู้สึกว่า เล่นได้ไม่ดีเลย เป็นหมูสนามทุกหลุม .
ในฐานะเพื่อน เราขอบอกอย่างไม่อ้อมค้อม แบบฟันธงเลยว่า เธอมีอาการเหนื่อยเพลีย..จริง ไม่ใช่เสแสร้ง เพื่อเรียกร้องความสนใจจากสามี ตามทีคุณเข้าใจหรอก
มันเกิดขึ้นกับเธอจริง ๆ

กลุ่มอาการเหนื่อยหล้า ชนิดเรื้อรัง หรือ chronic fatigue syndrome จะมีลักษณะอาการเหนื่อยเพลียอย่างหนัก แม้ว่าจะได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ เช่น การนอนหลับอย่างเต็มที่ อาการก็ยังไม่หาย
ตามความเป็นจริงแล้ว คนที่ทรมานด้วยภาวะนี้ อาการจะแย่ลงทุก ๆ ครั้งที่เธอรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต และพวกน้ำตาลในปริมาณมาก ๆ

“ผู้ชาย เกิดภาวะดังกล่าวได้ไหมหมอ ?” เพื่อนอีกคนในก๊วนเอ่ยถาม

เพศชายก็มีโอกาสเป็นได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยกว่า จะพบในเพศหญิงได้มากกว่าชายถึง 2-4 เท่า
อย่างไรก็ตาม คนไข้ผู้ซึ่งไม่เคยสนใจใยดีในเรื่องอาหารที่ตนเองกิน มักจะเป็นคนที่มีอาการอ่อนหล้า และปวดกล้ามเนื้อหลังกินข้าว และเป็นการยากมาก ๆ ที่เราจะบ่งบอกได้ว่า ใครคนไหนเป็นโรคเหนื่อยหล้า.. (chronic fatigue syndrome) ไม่ใช้กิดจากภาวะอื่น
เหตุผล เพราะ อาการที่เกิดขึ้นนั้น มันไม่ชัดเจน มักจะมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น อาการเหนื่อยหล้า ปวดกล้ามเนื้อ ความจำเสื่อม ไม่สนใจต่อสภาพรอบตัว นอนไม่หลับ และมีอาการอ่อนแรง...
ก่อนที่จะมีโอกาสพูดต่อไป ก็ได้รับการขัดจังหวะจากเพื่อน เจ้าของปัญหา ว่า
“หมอมีทางรักษา ภรรยาของผมให้หายขาดได้ไหม

เห็นสีหน้าของเพื่อนแล้ว รู้สึกสงสาร เพราะหมอฝรั่งเขาบอก ว่า ภาวะดังกล่าว ไม่มีทางรักษาหายขาดหรอก แต่พอมีทางทำให้ภาวะที่เธอเป็นนั้นดีขึ้นได้ ให้เธอกลับสู่สังคมได้ตามเดิม
สำหรับเรา มีความเห็นแตกต่างออกไป
วิธีการที่จะทำให้ภาวะเหนื่อยเพลียหาย มีทางทำได้ แต่ที่ไม่หาย หรือไม่ประสบผล ตามที่ควรจะเป็นอาจเป็นเพราะเธอผู้ป่วย ขี้เกียจ ไม่ทำตามคำแนะนำเท่านั้นเอง
ข้อแรก : ให้เธอระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน หมั่นตรวจ และสังเกตให้ได้ว่า อาหารชนิดใด ที่กินเข้าไปแล้ว เกิดอาการเหนื่อยเพลีย... เธอต้องหลีกเลี่ยงให้ได้
ให้ลดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต และน้ำตาลลง
ข้อที่สอง : ให้เธอพักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะให้นอนหลับพักผ่อนคืนละ 6 ชม. เป็นอย่างน้อย
ข้อสาม : ให้เธอ ปฏิบัติธรรม หมายถึงให้ภาวนาดูกาย ดูจิต นั่นแหละ ให้หมั่นทำทุกวัน...
บางท่านเคยอุปมา อุปมัยเอาไว้ว่า ร่างกายที่สกปรกจากเหงื่อไคล ถูกทำให้สะอาดได้ด้วยการอาบน้ำฉันใด จิตใจที่สกปรกด้วยกิเลสทั้งหลาย ก็สามารถขจัด หรือทำให้สะอาดหมดจดได้ด้วยการปฏิบัติธรรม... การเจริญสติทุกวัน (ต้องถือศิล 5 ด้วย) ก็จะสามารถทำให้จิตของเราสะอาด สดชื่น และช่วยทำให้อาการที่เธอเป็นดีขึ้นได้
ข้อสุดท้าย : ให้เธอออกกำลังกายทุกวัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที จะออกกำลังกายในรูปแบบใดก็ได้ เช่น ถีบจักรยาน ว่ายน้ำ เล่นแอร์โรบิค หรือ เดินเร็ว สลับช้าอย่างละ 15 นาที เป็นต้น
เราคงจำได้ว่า รุ่น คุณปู่ คุณย่า ของเรา เคยกล่าว “กิฬา เป็น ยาวิเศษ” กันทุกคน
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องกระทำอย่างหนักหรอก เอาแค่เดินเร็ว สลับกับการเดินช้า วันละครึ่งชั่วโมง จะทำให้มีการหลั่งสาร “เอ็นดอร์ฟีนส์” ออกมาจากสมองของเรา สารตัวนี้แหละที่คุณปู่ คุณย่าของเราพูดว่า “กิฬา เป็นยาวิเศษ” ซึ่งท่านหมายถึง การกิฬาสร้างยาวิเศษตัวที่เรากล่าวถึงนั่นแหละ
เอ็นดอร์ฟินส์ คืออะไร?
เอ็นดอร์ฟินส์ เป็นสารเคมีชนิดหนึ่ง ถูกสร้างโดยสมองของคนเรา ซึ่งจะจับตัวกับ Neuro-receptor ทำหน้าที่ระงับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับร่างกายของคนเรา
ว่ากันตามจริง ฝรั่งเขาค้นพบมานานหลายสิบปีแล้ว (ค.ศ. 1975) สารตัวนี้ นอกจากจะรักษาอาการเจ็บปวดได้แล้ว ยังเสริมระบบภูมิต้านทานของคนเราให้ดียิ่งขึ้น สามารถลดความเครียดได้
และสำหรับคนสูงอายุ มันสามารถทำให้ดูหนุ่ม หรือดูดีขึ้นอีกด้วย
ไม่เพียงแต่การออกกำลังกายเท่านั้นหรอก ที่สามารถกระตุ้นให้สมองสร้าง และปล่อยสารเอ็นดอร์ฟินออกมา ยังมีกรรมวิธีอย่างอื่น เช่น การปฏิบัติธรรม เจริญภาวนา ดูกาย-จิต การนวด การฝังเข็ม ก็สามารถ..
ยังพูดไม่จบความ เพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งร้อนวิชาพอ ๆ กัน เสริมขึ้นว่า:
“กินพริก ก็ทำให้มีการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินได้เช่นกัน ใช่ไหม ?”
ถูกต้องครับ การรับประทานอาหารที่มีรสจัด (เผ็ด) และแม้กระทั้งการ หายใจลึก ๆ ก็สามารถทำให้มีการหลั่งของสารเอ็นดอร์ฟีนได้เช่นกัน
แม้ว่า จะมีคนบอกว่า ภาวะเหนื่อยหล้า และปวดกล้ามเนื้อ หลังการรับประทานอาหาร เป็นภาวะที่ไม่หายขาดก็ตาม ถ้า ภรรยาของท่านปฏิบัติตาม ที่ผมได้เล่ามาทั้งหมด โดยไม่ขี้เกียจ อาการของเธอจะดีขึ้นอย่างแน่นอน
ไม่แน่นะครับ สิ่งดี ๆ อาจตามมาให้คุณได้ชื่นชมก็ได้
ก่อนที่พวกเราจะแยกย้ายกลับ ( เล่น กอล์ฟครบ 18 หลุม) เพื่อนของเราคนหนึ่งเอ่ยขึ้นเป็นการตบท้ายว่า
“ชวนภรรยา ออกรอบเล่นกอล์ฟด้วยกันซิ...”
นั่นซิ...การเล่นกอล์ฟของพวกเรา คงสนุก และมีชีวิตชีวาเป็นแน่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น