วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

Lupus: Symptoms (2)

ท่านไม่เชื่อ ก็ต้องเชื่อว่า คนที่เป็นโรค “ลูปัส” เหมือนกันแท้ๆ อาการยังไม่เหมือนกัน
บางคนอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการ “เป็นไข้” อย่างเฉียบพลัน เสมือนกับว่าเขาเกิดการอักเสบอย่าง รุนแรง
บางรายอาจมีอาการแบบอ้อยอิ่ง ค่อยเป็นค่อยไป ดำเนินอย่างช้าๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับ มีไข้เป็น ระยะ ๆ ร่วมกับอาการที่เกิดกับระบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

คนไข้พวกนี้ อาจมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดศีรษะ “ไมเกรน” มีอาการชัก (epilepsy) หรือ มาด้วยความผิดปกติทางจิตอย่างรุนแรง และสุดท้าย อาจมาด้วยอาการของระบบต่างๆ ที่ได้รับการ กระทบจากโรคก็ได้ เช่น

• ปัญหาของข้อ: อาการทางไขข้อ มีตั้งแต่อาการปวดเมื่อยตามข้อ เป็นๆ หายๆ ไปจนกระทั้งถึงอาการปวด อย่างรุนแรง (acute polyarthritis)
คนไข้มีอาการปวดตามข้อนานเป็นปี เกือบถึง 90 % ก่อนที่จะมีอาการอย่างอื่นปรากฏให้เห็น
การอักเสบของข้อในโรค “ลูปัส” จะไม่มีการทำลายของข้อเหมือนโรคอย่างอื่นเขา

• ปัญหาของผิวหนัง และผิวภายในปาก เราจะพบผื่นบนผิวหนังมีลักษณะเป็นรูปผีเสื้อครอบดั้งจมูก (malar butterfy rask ) โดยปีกของมันสยายคลุมแก้มทั้งสอง
มีแผลแบบ ulceration ภายในผิวชั้นในปาก โดยเฉพาะ เพดานของปาก กระพุ้งแก้ม ตามเหงือก และภายในรูจมูก
พวกนี้จะแพ้แสงแดด

• ปัญหาของปอด คนไข้ที่เป็นโรค “ลูปัส” อาจมีอาการเจ็บหน้าอก เมื่อหายใจลึกๆ
สาเหตุ เนื่องมาจากเยื้อหุ้มปอด (plural sac) เกิดการอักเสบ (pleurisy) ซึ่งอาจมีน้ำ หรือไม่มีน้ำก็ได้
นอกเหนือไปจากนี้ เนื้อปอดอาจเกิดการอักเสบ (lupus peumonitis) ขึ้น แล้วทำให้คนไข้หายใจด้วยความลำบาก

• ปัญหาเกิดกับหัวใจ คนไข้พวกนี้ อาจเกิดมีการอักเสบของเยื้อหุ้มหัวใจ (pericarditis) คนไข้มีอาการเจ็บหน้าอก หรือบางรายเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจเอง ดันเกิดอักเสบขึ้นมา ทำให้เส้นเลือดตีบตัน และนำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือด (angina pectoris) (ไข้เจ็บหน้าอก) รายที่เป็นมากไปกว่านั้น กล้ามเนื้อของหัวใจอาจเกิดอักเสบขึ้นมา ทำให้เกิดมีแผลเป็นบนกล้ามเนื้อหัวใจเอง (scar) เป็นเหตุให้เกิดการทำงานของหัวใจล้มเหลวไป (heart failure) ในที่สุด

• ต่อมน้ำเหลือง และม้าม มีขนาดโตขึ้น

• ปัญหาทางไต ถ้าเป็นน้อย อาจไม่ปรากฏอาการใดๆ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ที่พบบ่อยคือรายที่มีการสูญเสียโปรตีนไปในปัสสาวะ ทำให้คนไข้มีอาการบวมปรากฏที่ขาทั้งสอง

• ปัญหาทางเลือด โรคนี้ อาจทำให้เม็ดเลือดต่างๆ (red blood cell, white blood cell and platelet) ลดลง อาจทำให้คนไข้มีอาการต่างทางโรคเลือดได้ เช่น เลือดออกง่ายในบางราย ในทางตรงข้าม เม็ดเลือดจับตัวเป็นก้อนอุดเส้นเลือดที่สำคัญ ทำให้เกิดมีปัญหาอย่างอื่นตามมา เช่นเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ (stroke) หรือเกิดภาวะแท้งลูกบ่อย ๆ เป็นต้น

• ปัญหาของกระเพาะลำไส้ เกิดจากการที่เลือดไปหล่อเลียงส่วนต่างๆ ของลำไส้เกิดผิดปกติไป ทำให้คนไข้มีอาการปวดท้อง หรือเกิดมีการทำลาย “ตับ” “ตับอ่อน” หรือแม้กระทั้งทำให้ลำไส้เกิดการอุดตัน หรือกระแผลทะลุก็ได้

Next >

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น