วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

Vertigo(1) : เมื่อคนไข้ไม่สามารถเลิกกินยาได้

“Give and Take”

มันขึ้นกับเจตนา...ของผู้ให้ และผู้รับเท่านั้น
ผู้ “ให้” เชื่อว่า สิ่งที่ให้นั้น เป็นประโยชน์ต่อผู้รับ โดยไม่มีความคิดอย่างอื่นเจือปน
ผู้ “รับ” จะรับสิ่งที่คนอื่นหยิบยื่นให้ เพราะ เชื่อว่า มันมีประโยชน์แก่ตนเท่านั้น
นั่นคือสิ่งที่เราพบเห็นในการปฏิบัติงานของแพทย์
ถ้า...ผลที่เกิดจากการให้ และการรับนั้น เป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้
ความสุขใจย่อมเกิดขึ้นกับทั้ง สองฝ่าย

เมื่อหกเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ทำงานในคลินิกคนสูงอายุ ได้พูดคุยกับคนสูงอายุตั้งแต่ 70 ขึ้น
แต่ละท่าน มาพบเราด้วยปัญหาสุขภาพร้อยแปด
หน้าที่หลัก คือ รับฟัง....ให้คำแนะนำ
โดยมีจุดมุ่งหมาย ให้คนไข้ได้รับการเรียนรู้ทุกแง่มุมของโรคที่เขาเป็น และ ที่สำคัญ เขาจะอยู่กับโรคที่เขาเป็น อย่างมีคุณภาพได้อย่างไร
นอกเหนือจากนั้น คนไข้ทุกราย จะได้รับรู้เกี่ยวกับอันตราย อันพึงจะเกิดจากยาที่ตนเองรับประทาน
หากไม่จำเป็นก็ให้เลิกรับประทานยาตัวนั้น ๆเสีย

วันหนึ่ง มีกระทาชายนายหนึ่ง หลังเกษียณอายุราชการ ได้มาขอรับการตรวจ และรับยาที่ตนเคย รับประทานเป็นเวลา 3 ปีเศษ ผู้เขียนเห็นว่า เขาไม่ควรกินยาตัวนี้นานถึงขนาดนั้น:
“หมอจะตัดยา ตัวนี้ (serc) ออก...”
ผู้เขียนยังพูดไม่จบ.... คนไข้ก็ร้องเสียงหลงว่า
“ผมกินยาตัวนี้มา 3 ปี แล้ว....เลิกไม่ได้ ผมต้องกินยาตัวนี้เช้า-เย็น
ถ้าเลิกเมื่อใด อาการวิงเวียนจะเกิดขึ้นทันที”

เมื่อคนไข้ต้องการ แม้ว่าจะแนะนำวิธีการรักษาด้วยวิธีการบริหารร่างกาย คนไข้ก็ไม่สนใจ
เราจะทำอะไรได้ นอกจากให้ในสิ่งที่เขาต้องการ

อีกสามเดือนต่อมา....ผู้เขียนได้พบคนไข้รายเดิมอีก
แปลกใจ ที่ทราบว่า คนไข้ปฏิเสธที่จะรับยาแก้อาการวิงเวียนอีกต่อไป
ด้วยเหตุผลว่า หลังจากทำการ บริหารกายตามที่ผู้เขียนได้แนะนำเมื่อคราที่แล้ว ปรากฏว่าได้ผลดี

นั่นคือ ความสุขใจ ที่เกิดขึ้นจากการให้ (give) และการรับ (take)
แม้ว่าจะช้าไปนิดหนึ่ง ก็ไม่เป็นไร มิใช่หรือ ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น